กรมพัฒน์ เตือนซื้อแฟรนไชส์ทำธุรกิจ ต้องศึกษา ตรวจสอบ อย่าเชื่อคำชวนเกินจริง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตือนนักลงทุน ประชาชน ที่สนใจลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องศึกษารายละเอียดของธุรกิจ ความมีตัวตน ความน่าเชื่อถือให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาหรือคำชวนเชื่อที่ให้ผลประโยชน์ ผลตอบแทนเกินจริง เผยในส่วนของกรมมีแฟรนไชส์ในเครือข่ายที่มีมาตรฐานให้เลือกกว่า 545 แบรนด์ ยันมีแผนช่วยพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แฟรนไชส์ เป็นธุรกิจสำเร็จรูปที่ช่วยให้นักลงทุนหน้าใหม่ก้าวสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ สามารถเลือกลงทุนได้ตามความถนัด ความชอบ โดยธุรกิจมีให้เลือกลงทุนหลากหลายขนาดตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักล้านบาท แต่ด้วยความที่แฟรนไชส์เป็นระบบที่มีจุดแข็งและผู้สนใจมักจะคิดถึงแฟรนไชส์เป็นลำดับต้นๆ ในการเลือกลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้มีผู้ไม่หวังดีนำระบบแฟรนไชส์ไปหลอกลวงนักลงทุน ประชาชนให้หลงเชื่อและนำเงินมาร่วมลงทุนในธุรกิจ
ทั้งนี้ กรมขอเตือนนักลงทุนและประชาชนที่ต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ผ่านระบบแฟรนไชส์ ต้องศึกษารายละเอียดของธุรกิจให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุน ควรตรวจสอบความมีตัวตนของธุรกิจว่ามีอยู่จริง มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งไม่หลงเชื่อคำโฆษณาหรือคำชวนเชื่อของคู่ค้าเรื่องผลประโยชน์ ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง โดยต้องพิจารณาโอกาสความเป็นไปได้ของผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างรอบคอบที่สุด
โดยนักลงทุนและประชาชน ที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์ สามารถค้นหาธุรกิจแฟรนไชส์ในเครือข่ายของกรมที่ผ่านการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 545 แบรนด์ ที่พร้อมให้นักลงทุนและประชาชนที่สนใจสร้างอาชีพเลือกลงทุนได้ตามความชอบได้ทาง https://franchise.dbd.go.th/th หรือขอคำปรึกษาได้ที่ส่วนส่งเสริมธุรกิจเฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 e-Mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ กรมมีแผนที่จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ’การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise)’ ซึ่งหลักสูตรนี้สร้างให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้สามารถเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำระบบแฟรนไชส์ไปขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพองค์กร ขยายโอกาสทางการตลาดธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ได้อย่างกว้างขวางและเกิดความเข้มแข็ง ผ่านหลักสูตร 4 Module คือ
การบริหารจัดการธุรกิจ การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ กลยุทธ์ทางการตลาดธุรกิจ และการสร้างคู่มือ แผนธุรกิจ และสัญญาแฟรนไชส์ เมื่อจบหลักสูตรแล้วธุรกิจจะมีคู่มือปฏิบัติงานแฟรนไชส์ (Operation Manual) พัฒนาร้านค้าต้นแบบและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองเพื่อใช้ในการขยายสาขาต่อไป ซึ่งรุ่นที่ 28 ประจำปี 2568 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จะเปิดรับสมัครรุ่นต่อไปอีกครั้งในเดือน พ.ย.2568
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม 'ยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard)' โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา ณ สถานประกอบการในลักษณะ On the job Training ในการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพที่กรมจัดทำขึ้นตามระบบ Thailand Quality Award (TQA) และตามแนวทางมาตรฐานคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award - MBNQA)
ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีการนำไปใช้กว่า 70 ประเทศทั่วโลก ก่อนเข้ารับการตรวจประเมิน 7 ด้าน คือ การนำองค์กร กลยุทธ์ ลูกค้าและแฟรนไซส์ซี การวัด วิเคราะห์และจัดการความรู้ บุคลากร การปฏิบัติการ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จะมีการพัฒนาและทบทวนมาตรฐานทุก 2 ปี ให้เป็นสากล และจะมีการเปิดตัวกิจกรรมในวันที่ 19 พ.ค.2568 นี้
ขณะเดียวกัน มีกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้ต้องการลงทุนหรือผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) ซึ่งจะดำเนินการอบรมในวันที่ 14 พ.ค.2568 โดยภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ ประกอบกับแฟรนไชส์แบรนด์ดังมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อสร้างให้แฟรนไชส์ซีรุ่นใหม่สามารถเริ่มต้นสร้างธุรกิจด้วยแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง
ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dbd.go.th หัวข้อข่าวประชาสัมพันธ์ และหัวข้ออบรมสัมมนา
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เม.ย.2568) มีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 545 ราย แบ่งเป็น 5 ประเภทธุรกิจ คือ อาหาร 248 ราย เครื่องดื่ม 106 ราย การศึกษา 68 ราย บริการ 66 ราย ค้าปลีก 33 ราย ความงามและสปา 24 ราย
สำหรับ แฟรนไชส์ เป็นธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น
และได้มอบแนวทางปฏิบัติให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการส่งเสริมให้นักลงทุนและประชาชนใช้เป็นทางเลือกนำไปลงทุนประกอบธุรกิจเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ