หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 28


ร่างกฎกระทรวงการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. ....

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

          1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

          2. ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยและ สำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

          ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

          สธ. เสนอว่า 

          1. พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 48 บัญญัติให้ในการดำเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้ หากเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลใดจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรค ให้ทางราชการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้นั้นตามความจำเป็น ซึ่งการชดเชยความเสียหายดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการกำหนดมาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยให้สอดคล้องกับกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (International Health Regulations 2005 : IHR) ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม สธ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. .... เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายในกรณีการดำเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลใดจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรค อันจะเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายของประชาชนที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

              1.1 กำหนดให้ในกรณีที่มีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อแล้วเกิดความเสียหายขึ้น ให้ดำเนินการกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

                   (1) ในกรณีที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้รายงานด้วยตนเอง ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นในเขตจังหวัด ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดรายงานต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่หากความเสียหายเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รายงานต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ต้องดำเนินการภายใน 7 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความเสียหาย

                   (2) ในกรณีผู้เสียหายหรือทายาทโดยธรรมของผู้เสียหายได้ยื่นคำขอรับค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายด้วยตนเอง ให้ผู้เสียหายยื่นคำขอที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หากความเสียหายเกิดขึ้นในเขตจังหวัด หรือสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หากเกิดความเสียหายขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร โดยต้องยื่นคำขอภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความเสียหาย โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รายงานต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

              1.2 กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่พิจารณากำหนดค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยให้คำนึงถึงสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ ประโยชน์ที่ผู้เสียหายได้รับ รวมถึงโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายในทางอื่นด้วย ซึ่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน และหากมีเหตุจำเป็นอาจขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ไม่เกิน 30 วันนับแต่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โดยกำหนดให้พิจารณาค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหาย ดังนี้

                   (1) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

                   (2) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

                   (3) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ประกอบการงาน ณ วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ

                   (4) ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครพิจารณากำหนดค่าทดแทน เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้เสียหายนั้น ดังต่อไปนี้

                        (4.1) ค่าทดแทน ให้จ่ายเป็นเงินจำนวนตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 

                        (4.2) ค่าจัดการศพ ให้จ่ายเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท

                        (4.3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ให้จ่ายเป็นเงินจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท

                   (5) ค่าเสียหายอื่นนอกจาก (1) (2) (3) และ (4) ให้จ่ายเป็นเงิน ตามจำนวนที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท (6) ในกรณีความเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของผู้เสียหาย ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครคำนึงถึงสภาพของทรัพย์สินนั้น ราคาตามท้องตลาด หรือราคาอ้างอิงจากทางราชการในวันที่เกิดความเสียหายและปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดความเป็นธรรม

              1.3 ในกรณีที่กำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือทรัพย์สินของผู้เสียหายแล้ว ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดำเนินการ ดังนี้

                   (1) ในกรณีที่ค่าทดแทนความเสียหายเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 400,000 บาท ให้เสนอเรื่องไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อพิจารณากำหนดค่าทดแทนและดำเนินการเบิกจ่ายค่าทดแทนต่อไป 

                   (2) ในกรณีที่ค่าทดแทนความเสียหายเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 400,000 บาท ให้เสนอเรื่องไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณากำหนดค่าทดแทน โดยให้ กรมควบคุมโรคดำเนินการเบิกจ่ายค่าทดแทนต่อไป

              1.4 ในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือทรัพย์สินของผู้เสียหายต่อเนื่องกันหลายจังหวัดหรือระหว่างจังหวัดกับกรุงเทพมหานคร ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี รายงานต่อกรมควบคุมโรคภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือวันที่ได้รับคำขอจากผู้เสียหาย และให้กรมควบคุมโรคเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ 

          2. สธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมควบคุมโรค (www.law2.ddc.moph.go.th) และเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) และได้จัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ผลกระทบแก่ประชาชนเรียบร้อยแล้ว

          3. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ครบกำหนด จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 กรกฎาคม 2567

 

 

7531

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!