หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 11


โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี (โครงการฯ) ปีการผลิต 2567 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวมการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยเพิ่มเติมโดยสมัครใจ (Tier 2) จำนวน 21 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณโครงการฯ รวม 2,302.16 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ประกอบด้วย

          1. วงเงินที่รัฐบาลอุดหนุนจำนวน 1,612.16 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) วงเงินงบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 จำนวน 1,569.32 ล้านบาท และ (2) วงเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาล และเงินชดเชยจากรัฐบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงิน โดยคิดอัตราชดเชยด้วยอัตราต้นทุนทางการเงินจากรัฐบาล ในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2.73) จำนวน 42.84 ล้านบาท

          2. วงเงินที่ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จำนวน 690 ล้านบาท

          สาระสำคัญ

          1. เดิมกระทรวงการคลัง (กค.) (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการฯ1 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กษ. สำนักงาน คปภ. และสมาคมฯ) ตั้งแต่ปีการผลิต 2554 จนถึงปี 2565 โดยมี ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานกลางในการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งโครงการฯ เป็นรูปแบบการประกันภัยข้าวนาปีสำหรับรายย่อย (Micro Insurance) ที่รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่เกษตรกรส่วนหนึ่ง และ ธ.ก.ส. จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. อีกส่วนหนึ่ง ต่อมาได้มีการปรับรูปแบบการประกันภัยในปี 2562 โดยกำหนดเป็นการประกันภัยภาคพื้นฐาน (Tier 1) ซึ่งภาครัฐจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยส่วนหนึ่ง และ ธ.ก.ส. จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. อีกส่วนหนึ่ง และเพิ่มการประกันภัยภาคสมัครใจ (Tier 2) เพื่อให้เกษตรกรซื้อประกันภัยเองเพิ่มเติม ทั้งนี้ กรรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดและภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ (1) น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก (2) ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง (3) ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น (4) ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง (5) ลูกเห็บ (6) ไฟไหม้ และ (7) ช้างป่า

          2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 พฤษภาคม 2565) เห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2565 ตามมติ นบข. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวมส่วนที่ 1 การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และส่วนที่ 2 การรับประกันภัยภาคสมัครใจ (Tier 2) รวมจำนวน 29 ล้านไร่ ภายใต้วงเงินงบประมาณ จำนวน 1,925.07 ล้านบาท ตามที่ กค. เสนอ และให้ กค. รับความเห็นจาก สงป. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการศึกษาแนวทางการปรับลดสัดส่วนการอุดหนุนของภาครัฐในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการประกันภัยพืชผลมากขึ้น ซึ่ง กค. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ปีการผลิต 2566 เสนอ นบข. โดยกำหนดพื้นที่นำร่องให้เกษตรกรมีส่วนร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย 5 บาทต่อไร่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญของการประกันภัย และจูงใจให้เกษตรกรในพื้นที่นำร่องเข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น รวมถึงปรับปรุงวิธีการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. โดยให้การอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการทำประกันภัยมากขึ้นด้วย แต่เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ทำให้การดำเนินโครงการฯ ที่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (1) กำหนดไว้ว่าไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีการดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2566

          3. ผลการดำเนินงานโครงการฯ ปีการผลิต 2565 ณ วันสิ้นสุดการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) จำนวน 1.93 ล้านราย จำนวนพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ 26.76 ล้านไร่ (แบ่งเป็นพื้นที่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จำนวน 26.50 ล้านไร่ และพื้นที่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่เกินสิทธิ์และเกษตรกรทั่วไป จำนวน 0.26 ล้านไร่) หรือคิดเป็นร้อยละ 93.91 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมาย 28.50 ล้านไร่ และมีจำนวนผู้เอาประกันภัยเพิ่มเติม (Tier 2) จำนวน 6,865 ราย จำนวนพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ 89,496.75 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 17.90 ของพื้นที่เป้าหมาย 500,000 ไร่ โดยมีผลการจ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด 1,706.52 ล้านบาท แบ่งเป็น Tier 1 จำนวน 1,690.66 ล้านบาท และ Tier 2 จำนวน 15.86 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ไม่ประกาศภัย มีเกษตรกรประสบภัย จำนวน 18 ราย พื้นที่ 288.25 ไร่ จำนวนเงิน 0.16 ล้านบาท

          4. นบข. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ ปีการผลิต 2567 โดยให้ ธ.ก.ส. พิจารณาทบทวนเงื่อนไขการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. และอัตราชดเชยต้นทุนทางการเงินให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการอื่นๆ ของรัฐบาล2 ซึ่งหลักการโครงการฯ ปีการผลิต 2567 ดำเนินการรูปแบบเดียวกับโครงการฯ ที่ผ่านมา โดยให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. ได้รับความคุ้มครองจากระบบการประกันภัยตามกฎจำนวนมาก3 (Law of Large Numbers) และคงรูปแบบการรับประกันภัยส่วนเพิ่มเพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยเช่นเดียวกับการดำเนินงานโครงการฯ ในปีการผลิต 2562 - 2565 รวมทั้งเพิ่มเติมในส่วนของการเอาประกันภัยในพื้นที่นำร่องในราคาต่ำลง เพื่อจูงใจให้เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพื้นที่นำร่องเป็นพื้นที่ความเสี่ยงภัยต่ำที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการทำประกันภัยโดยกำหนดเบี้ยประกันภัยที่จูงใจให้เกษตรกรร่วมจ่ายไม่เกิน 5 บาทต่อไร่ และผู้เอาประกันต้องเอาประกันภาคพื้นฐาน (Tier 1) ให้เต็มแปลงก่อน จึงจะสามารถเอาประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) ในแปลงเพาะปลูกดังกล่าวได้ ทั้งนี้ โครงการฯ ปีการผลิต 2567 มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 

หัวข้อ

 

โครงการฯ ปีการผลิต 2567

(1) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย

 

...

(2) ผู้รับประกันภัย

 

บริษัทประกันวินาศภัยที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมการรับประกันผ่านสมาคมฯ

(3) ผู้เอาประกันภัย

 

เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ที่ได้รับการสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจาก ... หรือเกษตรกรที่ไม่ได้รับการสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจาก ... และเกษตรกรทั่วไป

(4) ผู้รับประโยชน์

 

(4.1) กรณีเกษตรกรเป็นลูกค้าสินเชื่อ ...

        - เกษตรกรผู้เอาประกันภัย เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวน

(4.2) กรณีเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ... ซื้อเพิ่มเอง และเกษตรกรทั่วไป (ภาคสมัครใจ) 

        - เกษตรกรผู้เอาประกันภัย

(5) อัตราเบี้ยประกันภัย Tier1 (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) และพื้นที่เป้าหมาย (รวม 20.5 ล้านไร่)

 

(5.1) ลูกค้าสินเชื่อ ... 115 บาท/ไร่ (พื้นที่เป้าหมาย 15 ล้านไร่)

(5.2) เกษตรกรทั่วไป

        (5.2.1) พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่นำร่อง)* 70 บาท/ไร่ (พื้นที่เป้าหมาย 5 ล้านไร่)

 

        (5.2.2) พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 199 บาท/ไร่

        (5.2.3) พื้นที่ความเสี่ยงสูง 218 บาท/ไร่

 

(5.2.2 – 5.2.3 พื้นที่เป้าหมายไม่เกิน 5 แสนไร่)

(6) อัตราเบี้ยประกันภัย Tier2 (เกษตรกรจ่ายเพิ่มเอง) (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) และพื้นที่เป้าหมาย (รวม 5 แสนไร่)

 

(6.1) พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 27 บาท/ไร่

(6.2) พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 60 บาท/ไร่

(6.3) พื้นที่ความเสี่ยงสูง 110 บาท/ไร่

 

(6.1 – 6.3 พื้นที่เป้าหมายไม่เกิน 5 แสนไร่)

(7) ความคุ้มครอง Tier 1

 

ภัยธรรมชาติ 7 ภัย (ตามข้อ 1.) 1,190 บาท/ไร่

ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 595 บาท/ไร่

(8) ความคุ้มครอง Tier 2

 

ภัยธรรมชาติ 7 ภัย 240 บาท/ไร่

ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 120 บาท/ไร่

(9) ความคุ้มครองรวม (Tier 1 และ Tier2)

 

ภัยธรรมชาติ 7 ภัย 1,430 บาท/ไร่

ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 715 บาท/ไร่

(10) อุดหนุนเบี้ยประกันภัยของรัฐบาลและ ... (เฉพาะ Tier 1) (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

 

(10.1) ลูกค้าสินเชื่อ ... 124.12 บาท/ไร่

         - รัฐบาลอุดหนุน 78.12 บาท/ไร่

          - ... อุดหนุน 46 บาท/ไร่ (จำกัดพื้นที่สูงสุดไม่เกิน 30 ไร่/ราย) สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 และ 2567

(10.2) เกษตรกรทั่วไป

          พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่นำร่อง)* 75.47 บาท/ไร่

         - รัฐบาลอุดหนุน 70.97 บาท/ไร่

         - เกษตรกรจ่าย 5 บาท/ไร่

         พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 214 บาท/ไร่

         - รัฐบาลอุดหนุน 84 บาท/ไร่

         - เกษตรกรจ่าย 130 บาท/ไร่

          พื้นที่ความเสี่ยงสูง 234.33 บาท/ไร่

         - รัฐบาลอุดหนุน 85.33 บาท/ไร่

         - เกษตรกรจ่าย 149 บาท/ไร่

(11) ภาระงบประมาณ

 

2,302.16 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินที่รัฐบาลอุดหนุนจำนวน 1,612.16 ล้านบาท [วงเงินงบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 จำนวน 1,569.32 ล้านบาท และวงเงินต้นทุนทางการเงินจากรัฐบาลในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ... ประจำไตรมาสบวก 1 (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2.73) จำนวน 42.84 ล้านบาท] และวงเงินที่ ...อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ลูกค้าสินเชื่อ ... จำนวน 690 ล้านบาท

(12) การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน

 

จ่ายตามระเบียบ กค. และจ่ายเพิ่มเติมกรณีแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรเกิดความเสียหายแต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรจะต้องรายงานความเสียหายของแปลงเพาะปลูกให้สมาคมฯ ทราบผ่านแอปพลิเคชันมะลิซ้อน4

(13) ระยะเวลาจำหน่าย

 

เริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์แตกต่างกันตามภูมิภาค ดังนี้

(13.1) ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ ภาคตะวันตก จำนวน 63 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 7 กรกฎาคม 2567

(13.2) ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ... ทุกสาขา

(14) ประโยชน์ที่ได้รับ

 

ช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกร ทำให้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติผ่านระบบประกันภัยและเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐตามระเบียบ กค. รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ

 

หมายเหตุ : *1. ที่ผ่านมาพื้นที่ความเสี่ยงต่ำไม่ค่อยมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วม ดังนั้น การให้เบี้ยประกันภัยในราคาถูกกับเกษตรกรในพื้นที่นำร่องจะเป็นการจูงใจให้เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มมากขึ้น

                   2. ค่าเบี้ยประกันภัย ทุก 250 บาท คิดค่าอากรแสตมป์ 1 บาท

                   3. คิดภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ของเบี้ยประกันภัยหลังจากรวมค่าอากรแสตมป์แล้ว 

 

_______________________

1 คณะรัฐมนตรีมีติ (14 มีนาคม 2566) เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566 และมอบหมายให้ กษ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการประกันภัยการเกษตรของประเทศ และดำเนินการนำเสนอโครงการประกันภัยดังกล่าวต่อ นบข. และคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปีการผลิต 2567 เป็นต้นไป โดยให้พิจารณาความเหมาะสมของงบประมาณการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินตามระเบียบ กค.ฯ และงบประมาณอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยการเกษตร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐต่อไป รวมทั้งขอให้พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย ตามที่ กค. เสนอ ทั้งนี้ ปลัด กษ. ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการดังกล่าว

2 ธ.ก.ส. ได้มีหนังสือทบทวนการกำหนดอัตราชดเชยต้นทุนจากรัฐบาล เป็นอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาสบวก 1 (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2.73)

3 กฎจำนวนมาก (Law of Large Numbers) หมายถึง หากจำนวนของสิ่งที่เราต้องการทราบว่าจะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นมีจำนวนมากเท่าใด จำนวนครั้งที่เกิดขึ้นจริงก็จะมีความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น ฯ ขึ้นมากเท่านั้น ซึ่งกฎจำนวนมากเป็นหลักพื้นฐานของการประกันภัยเพื่อใช้ความน่าจะเป็นในการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยบริษัทประกันภัยได้อาศัยกฎนี้ในการพิจารณารับความเสี่ยงให้มีจำนวนรายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยให้เพียงพอสำหรับการสูญเสียที่คาดไว้ในอนาคต

4 แอปพลิเคชันมะลิซ้อน คือแอปพลิเคชันที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ประกาศภัยพิบัติโดยช่วยลดขั้นตอนและลดระยะเวลาในการแจ้งรายงานความเสียหาย และใช้เก็บข้อมูลเกษตรกร รูปภาพความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติ ตำแหน่งของสถานที่ประสบภัย รวมทั้งยังช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยได้อย่างครอบคลุม

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 กรกฎาคม 2567

 

 

7519

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!