หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 33


รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 6 - 11 กรกฎาคม 2567)

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมประเทศ (ระหว่างวันที่ 6 - 11 กรกฎาคม 2567) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอ

          สาระสำคัญและข้อเท็จจริง

          สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ขอสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 6 - 11 กรกฎาคม 2567 มีดังนี้

          1. สภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน 

              ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สภาวะลานีญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการคาดการณ์ว่าจะมีสถานการณ์ต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายนปี 2568

              วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

              ในช่วงวันที่ 14 – 17 กรกฎาคม 2567 จะมีร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก 

          2. สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ 

              ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 11 กรกฎาคม 2567) มีปริมาณน้ำ 39,579 ล้านลูกบาศก์เมตร (49%) น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 1,049 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การ 15,437 ล้านลูกบาศก์เมตร (27%) มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve)) 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุเก็บกัก จำนวน 85 แห่ง (จากทั้งหมด 369 แห่ง) ได้แก่ ภาคเหนือ 6 แห่ง (จาก 79 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 39 แห่ง (จาก 189 แห่ง) ภาคกลาง 7 แห่ง (จาก 11 แห่ง) ภาคตะวันออก 13 แห่ง (จาก 44 แห่ง) และภาคตะวันตก 15 แห่ง (จาก 24 แห่ง) และภาคใต้ 5 แห่ง (จาก 22 แห่ง)

          3. สถานการณ์อุทกภัย

              (1) ในช่วงวันที่ 6 – 11 กรกฎาคม 2567 มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชน 6 จังหวัด ได้แก่ (1) จังหวัดชลบุรี อำเภอศรีราชา (หมู่บ้านอุดมสุขและ ม.3 ต.สุรศักดิ์) เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงกลางคืนวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เวลา 21.00 น. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติ

              (2) จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอท่าปลา เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ สถานีบ้านน้ำรี ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา ปริมาณฝนสะสม 106.5 มม. ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติ

              (3) จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม เนื่องจากมีฝนตกหนักบนอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่โดยวัดปริมาณน้ำฝนได้ 120.0 มม. ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากทำให้ระดับน้ำในคลองหนองแก้วมีระดับเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 67 ในช่วง เวลา 00.00 - 02.00 น. มีระดับมากกว่า +14.00 ม.รทก.ซึ่งเป็นระดับน้ำวิกฤติ ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติ 

              (4) จังหวัดเลย อำเภอนาด้วง เนื่องจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สถานี อบต.ท่าสะอาดมีปริมาณฝนสะสม 70.88 มม. ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำสวยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติ 

              (5) จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอปางศิลาทอง ตำบลปางตาไว (บริเวณพื้นที่หมู่ที่ 5) เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง โดยวัดปริมาณน้ำฝนบริเวณสถานีบ้านตากฟ้า เวลา 16.00 น. มีปริมาณฝนสะสม 83.5 มม. และบริเวณสถานีบ้านไพรสวรรค์ เวลา 16.00 น. มีปริมาณฝนสะสม 62.0 มม. ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติ

              (6) จังหวัดชลบุรี อำเภอบางละมุง ฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงเช้าวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลาประมาณ 09.00 น. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เมืองพัทยา โดยมีน้ำท่วมขังประมาณ 15 - 20 ซม. ที่หน้าปั๊มบางจาก พัทยาใต้ ถนนสุขุมวิท ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติ และมีน้ำท่วมขังประมาณ 70-80 ซม. ที่ถนนเลียบทางรถไฟแยกเขาตาโลมุ่งหน้าแยกวัดธรรม โดยระดับลดลงอย่างรวดเร็ว รถยนต์สามารถสัญจรได้ปกติและคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

              (7) จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี เนื่องจากเกิดฝนตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และ น้ำจากอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลมาสมทบ ในช่วงวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 หนักส่งผลให้เกิดน้ำท่วมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 (นาดี-กบินทร์บุรี) บริเวณหน้าวัดโคกอุดม บริเวณโรงแรมเอกรวี โดยปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติ

          4. การแจ้งเตือนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

              ในช่วงวันที่ 6 – 11 กรกฎาคม 2567 สทนช. ได้ออกประกาศ แจ้งเตือน 1 ฉบับ ได้แก่ สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ ช่วงวันที่ 9 - 17 กรกฎาคม 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน ในบริเวณพื้นที่

              ภาคเหนือ ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์

              ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.เลย อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และอุบลราชธานี

              ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด 

              ภาคใต้ ได้แก่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส

         5. ผลดำเนินการตามมาตรการฤดูฝน ปี 2567 

              (1) ผลการคาดการณ์กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจำนวน 30 จังหวัด 113 อำเภอ 379 ตำบล และมีพื้นที่ฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคม จำนวน 29 จังหวัด 77 อำเภอ 252 ตำบล 

              (2) ผลการทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ ปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวทุ่งบางระกำและ10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา ทุ่งบางระกำ ปลูกแล้ว 0.265 ล้านไร่ (100% ของแผน) 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา ปลูกแล้ว 0.920 ล้านไร่ (97% ของแผน), จัดหาบึงรับน้ำเพิ่มเติมปริมาณ 43,000 ลบ.ม. และทบทวนปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำและเกณฑ์การระบายน้ำ 89 แห่ง

              (3) ผลการเตรียมความพร้อม เครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ อาคารชลประทานรวม 2,935 แห่ง พร้อมใช้งาน 2,670 แห่ง (90.97%) พร้อมใช้งานบางส่วน 229 แห่ง (7.80%) กทม.ติดตามอุโมงค์ระบายน้ำพร้อมใช้งาน 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ พร้อมใช้งาน 188 แห่ง กรมชลประทาน ติดตามสถานีโทรมาตรขนาดเล็กพร้อมใช้งาน 424 แห่ง (94.64%) กรมทรัพยากรน้ำติดตามสถานีตรวจวัดพร้อมใช้งาน 1,903 สถานี กรุงเทพมหานครฯ ติดตามสถานีเครือข่ายตรวจวัดพร้อมใช้งาน 535 แห่ง 

              (4) ผลการตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัยคันกั้นน้ำ ได้ดำเนินการติดตาม การตรวจสอบความมั่นคงคันกั้นน้ำ ทำนบ และพบว่าพร้อมใช้งาน 5,023 กิโลเมตร

              (5) ผลการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ ได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวา 4.6 ล้านตัน (แผน 8.19 ล้านตัน)

              (6) ผลการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ได้เตรียมความพร้อมกลไกและเตรียมพร้อมสนับสนุนการดำเนินการภายใต้ศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำเมื่อเกิดสถานการณ์ได้ทันที โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ได้ดำเนินการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีการชี้เป้าที่ตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ รองรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 ที่จังหวัดระยอง และ นครราชสีมา

              (7) ผลการดำเนินการเร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 28,200 บ่อ และสูบน้ำเข้ากักเก็บในอ่างเก็บน้ำโสกขุมปูน อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 140,000 ลบ.ม.

              (8) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชุมชนต่างๆ สามารถรับมืออุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำจำนวน 12 ลุ่ม 

              (9) ผลการสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ ได้ดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

              (10) ผลการติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย สทนช. ได้ดำเนินการติดตามประชุมประเมินสถานการณ์ทุกสัปดาห์

          6. การลงพื้นที่ตรวจราชการ

              นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เพื่อติดตามความพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยลงพื้นที่ตรวจสอบแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วัดไชยวัฒนาราม การเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุ ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และเป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยมีข้อสั่งการ ดังนี้

              (1) ให้ สทนช. ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการจัดทำแนวคันป้องกันน้ำท่วมโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการป้องกัน

              (2) สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในช่วงที่มีแนวโน้มจะเกิดวิกฤตให้ใช้กลไกศูนย์ส่วนหน้าเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยเน้นการดำเนินการต่างๆ เช่น ประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อเตรียมการล่วงหน้าให้ทันเวลา การใช้พื้นที่หน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ รวมถึงปรับแผนเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนน้ำที่หลากมา เป็นต้น

              (3) มอบ สทนช. ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาอุทกภัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายพื้นที่โบราณสถานที่เป็นมรดกโลก พื้นที่เศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่เขตเมือง ต้องไม่ประสบอุทกภัย

              (4) มอบ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้สำหรับป้องกันน้ำท่วมให้พร้อมใช้งานทุกแห่งอย่างมีประสิทธิภาพ

              (5) มอบ สทนช. กรมทางหลวง และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางการยกระดับถนนทางหลวงอุดมสรยุทธ์ก่อนบริเวณคันกั้นน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ให้เท่ากับระดับถนนเอเชีย และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

              (6) มอบ สทนช. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเพื่อกำหนดการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

              (7) สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวมอบ สทนช. กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาภายใต้แผนหลักการแก้ไขปัญหาด้านบริหารน้ำของประเทศโดยเสนอเป็นวาระน้ำแห่งชาติ และดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป

          7. การเตรียมการรับมือ

              สำหรับในช่วงวันที่ 12 – 16 กรกฎาคม 2567 อิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงที่จะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ สทนช.ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ที่จังหวัดนครราชสีมา และศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ที่จังหวัดระยอง โดยจะเริ่มจัดตั้งในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 และจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 กรกฎาคม 2567

 

 

7528

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!