หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 51

ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากร)

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ ดังนี้ 

          1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากร) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว 

          2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญ ของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1.

          ทั้งนี้ ศย. เสนอว่า

          1. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว ยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร เพื่อให้คู่ความดำเนินคดีไปคราวเดียวไม่ต้องแยกไปดำเนินคดีในอีกศาลหนึ่ง และการให้ศาลภาษีอากรซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษด้านภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากรจะเป็นผลให้การดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากรมีความถูกต้องและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

          2. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และในชั้นการตรวจพิจารณาของ สศก. ได้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของ สคก. (www.krisdika.go.th) รวมทั้งจัดทำหนังสือเพื่อขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้จัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว

          3. ศย. ได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ข้อกำหนดคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นการกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกาออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณา และการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญาได้

          4. ศย. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอ พร้อมกับการขออนุมัติ ต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยคาดว่าค่าใช้จ่าย ด้านบุคลากร ด้านการบริหารจัดการ และด้านลงทุนจะต้องใช้งบประมาณในระยะ 3 ปีแรก ประมาณ 108,082,038 บาท (กรณีที่ปรับปรุงอาคารที่ทำการศาล) หรือประมาณ 358,082,038 บาท (กรณีที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการใหม่) 

          สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

          1. กำหนดบทนิยามคำว่า “คดีภาษีอากร” ใหม่ และกำหนดให้ศาลภาษีอากร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร โดยให้คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากร รวมทั้งอาจมีพระราชกฤษฎีกากำหนดมิให้คดีความผิดหนึ่งความผิดใด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรก็ได้ ตลอดจนให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับในกระบวนการพิจารณาคดีด้วยโดยอนุโลม

          2. แก้ไขเพิ่มเติมการรับทราบกำหนดนัดของศาลเฉพาะในคดีภาษีอากรที่มิใช่คดีอาญา

          3. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีภาษีอากร โดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 กรกฎาคม 2567

 

 

7536

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024


Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!