หมวดหมู่: พาณิชย์

ดัชนีราคาส่งออก Copy


ดัชนีราคาส่งออก ก.พ. ลด 0.8% เจอข้าว มัน น้ำมันฉุด ส่วนดัชนีนำเข้าเพิ่ม 4%

สนค.เผยดัชนีราคาส่งออก ก.พ.68 ลด 0.8% เหตุข้าว มันสำปะหลัง ราคาลดลง จากความต้องการลด เจอคู่แข่ง น้ำมันลดจากความกังวลเศรษฐกิจโลก แต่อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง ทองคำ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มตามความต้องการที่สูงขึ้น ส่วนดัชนีนำเข้า เพิ่ม 4% จากความต้องการสินค้าใช้ในการผลิต ลงทุน บริโภคเพิ่มขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออก เดือนก.พ.2568 เท่ากับ 110.9 ลดลง 0.8% เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางกลุ่มที่ปรับลดลงจากอุปทานส่วนเกิน และการแข่งขันทางด้านราคา ประกอบกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น จากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ

รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางการผลิตของไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลให้ราคาส่งออกของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด ส่วนดัชนีราคานำเข้า เพิ่มขึ้น 4% ตามความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในการผลิต การลงทุน และการบริโภคของประเทศ

สำหรับ รายละเอียดดัชนีราคาส่งออก หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 1.6% ได้แก่ ทองคำ ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากความกังวลด้านนโยบายทางภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI )

และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งตลาดยังมีความต้องการสูง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 1% ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอาหารสุนัขและแมว ตามความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงแบบสดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการของตลาดโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง

ส่วนดัชนีราคาส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 5.1% โดยน้ำมันสำเร็จรูปลดตามความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมันชะลอตัว และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ลด 2.3% ได้แก่ ข้าว ตามอุปทานข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการข้าวไทยในตลาดโลกชะลอลง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามความต้องการที่ลดลง เนื่องจากเผชิญกับคุณภาพของผลผลิตที่ลดลง รวมถึงการแข่งขันจากคู่แข่ง ซึ่งเสนอราคาที่ถูกกว่าไทย

ทางด้านดัชนีราคานำเข้า หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่ม 8.1% จากเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ตามความต้องการเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประเทศ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพิ่ม 4.7% ได้แก่ ทองคำ ได้รับปัจจัยหนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ทำให้ความน่าสนใจในการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น

สำหรับ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า และปุ๋ย ตามความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และพืชผลทางการเกษตร หมวดสินค้าทุน เพิ่ม 4.6% ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการลงทุนของภาคการผลิต และภาคบริการเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เพิ่ม 0.3% โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากบางภูมิภาคยังเผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็น

      ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง คือ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลด 0.1% จากรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ตามความต้องการที่ชะลอลง เนื่องจากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวช้า

      นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า เดือนมี.ค. 2568 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน แม้จะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานราคาปี 2567 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2568 สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรบางประเภท ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังขยายตัวได้ดี ราคาพลังงานและวัตถุดิบ ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น

     อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอาจช้ากว่าที่คาด ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อในหลายภูมิภาค ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้า และภาษีของสหรัฐ ฯ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงน้อยกว่าปี 2567 อาจส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น จนนำมาสู่ภาวะอุปทานส่วนเกิน การแข่งขันทางด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาท

 

Click Donate Support Web 

PTG 720x100

MTI 720x100

Banner GPF720x100 PXTOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxAXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!