ส่งออกอัญมณี พ.ย. มูลค่า 826 ล้านเหรียญ เพิ่ม 16.69% ทองคำยังแรง โต 174.67%
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ พ.ย.67 กลับมาฟื้นตัว มูลค่า 826.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 16.69% รวมทองคำ มูลค่า 1,512.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 57.87% เฉพาะส่งออกทอง ยังแรงโต 174.67% แม้ราคาตลาดโลกเริ่มลด หลังทำนิวไฮ คาดทั้งปีเป็นบวกแน่ จากเศรษฐกิจฟื้น ท่องเที่ยวฟื้น แต่ปี 68 มีหลายปัจจัยให้จับตา ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว “ทรัมป์” ขึ้นภาษี
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน พ.ย.2567 มีมูลค่า 826.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.69% กลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง
หลังจากติดลบก่อนหน้านี้ 2 เดือนติดต่อกัน และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,512.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 57.87% ส่วนยอดรวม 11 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 8,611.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.30% หากรวมทองคำ มูลค่า 16,924.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.86%
สำหรับ การส่งออกทองคำเดือน พ.ย.2567 มีมูลค่า 686.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 174.67% แม้ว่าราคาทองคำตลาดโลกจะปรับตัวลดลง จากที่ทำสถิติสูงสุดได้ในเดือน ต.ค.2567 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังส่งออกได้เพิ่มขึ้น ส่วนยอดรวม 11 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 8,312.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 49.42% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือน ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 75.02% เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 64.57% พ.ค. มูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 135.39% มิ.ย. 544.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 184.12% ก.ค. 1,180.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 434.13% ส.ค. 455.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 99.01% ก.ย. 741.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 14.99% และ ต.ค. 2,231.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 169.31%
ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 5.98% สหรัฐฯ เพิ่ม 14.82% อินเดีย เพิ่ม 45.37% เยอรมนี เพิ่ม 10.64% อิตาลี เพิ่ม 3.23% เบลเยี่ยม เพิ่ม 22.01% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.22% ส่วนสหราชอาณาจักร ลด 4.51% สวิตเซอร์แลนด์ ลด 7.20% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 6.94%
ทางด้านการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 4.02% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 19.34% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 10.55% พลอยก้อน เพิ่ม 47.92% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 5.30% ซึ่งในกลุ่มพลอย ยังคงเป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เพราะมีการซื้อไปลงทุน เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 5.40% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 22.72% ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลด 1.73% เพชรก้อน ลด 10.44% และเพชรเจียระไน ลด 6.12%
นายสุเมธ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ในเดือน ธ.ค.2567 คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี และทั้งปี การส่งออกน่าจะเป็นบวก โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัว มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งผู้ประกอบการไทย มีการพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ ที่กลายเป็นช่องทางสำคัญในการกระตุ้นยอดขาย
และสินค้าไทยมีการพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสมาร์ทจิวเวอรี และหลาย ๆ แบรนด์มีการพัฒนาสินค้าที่มีเอกลักษณ์หรือเป็นรุ่นที่มีจำนวนจำกัด สร้างอีเวนต์พิเศษหรือแคมเปญที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับความรู้สึกหรูหราเฉพาะตัว ทำให้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2568 มีปัจจัยที่จะต้องติดตาม ทั้งเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ การดำเนินนโยบายลดดอกเบี้ยของเฟด และการเข้ามารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25%
สำหรับ การนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกและจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% ในวันแรกที่รับตำแหน่ง (20 ม.ค.2568) รวมทั้งยังมีการคำนวณภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ รวมทั้งกลุ่ม BRICS ซึ่งอาจทำให้การค้ากับสหรัฐฯ ในปีหน้ามีความยากลำบากมากขึ้นจากกำแพงภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ทั้งยังมีความผันผวนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่แน่นอน