กรมพัฒน์ เปิดผลรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทมหาชน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัทมหาชนจำกัด เผยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยกเลิกระยะเวลาพักคอย 6 เดือน และการเพิ่มเติมระยะเวลาในการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน เตรียมนำผลมาปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้เหมาะสม ก่อนเสนอ ครม. พิจารณา และส่งต่อกฤษฎีกาปรับปรุงต่อไป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ว่า กรมได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำการปรับปรุงกฎกระทรวงเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืนให้บริษัทสามารถบริหารจัดการการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนและบริหารสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท ระหว่างวันที่ 12-27 มี.ค.2568 ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th และเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งผลดีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวแล้ว
โดยผลการรับฟังความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 34 ราย โดยประเด็นแรก เรื่องการยกเลิกระยะเวลาพักคอย 6 เดือน มีผู้เห็นด้วย 25 ราย หรือคิดเป็น 73.53% ขณะที่อีก 9 ราย หรือ 26.47% ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกระยะเวลาพักคอย ประเด็นที่สอง เรื่อง การเพิ่มเติมระยะเวลาในการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน มีผู้เห็นด้วย 24 ราย คิดเป็น 70.59% ส่วนอีก 10 ราย หรือ 29.41% ไม่เห็นด้วยกับการขยายระยะเวลาจำหน่ายหุ้น
ทั้งนี้ ผู้ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่ มองว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับบริษัทในการบริหารโครงสร้างทุน สามารถบริหารสภาพคล่องได้ดีขึ้น และเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน
ขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจใช้การซื้อหุ้นคืนเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย และยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดทุนและความชัดเจนของเงื่อนไขในการนำหุ้นที่ซื้อคืนมาใช้ในอนาคต
นางอรมน กล่าวว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงในครั้งนี้ คาดว่า จะก่อให้เกิดผลดีต่อบริษัทในการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน ให้สามารถดำเนินการได้ตามสภาวการณ์ของตลาดในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ทำให้บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ทันที เมื่อเห็นว่าราคาเหมาะสม
โดยไม่ต้องรอ แต่การที่บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ไม่จำกัด อาจกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของบริษัท เปิดช่องให้เกิดการซื้อหุ้นคืนที่ต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ราคาหุ้นไม่เป็นไปตามกลไกตลาด และอาจถูกนำไปใช้เพื่อสร้างราคา ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท กระทบต่อความสมดุลของบริษัทและการคุ้มครองผู้ลงทุน
อย่างไรก็ตาม กรมให้ความสำคัญกับข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย ความชัดเจนของระยะเวลาในการถือครองหุ้นที่ซื้อคืน และแนวปฏิบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว สามารถส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนได้อย่างมีเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือ
ซึ่งกรมจะนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาสรุปและวิเคราะห์ถึงผลกระทบ เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงฯ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายอีกครั้ง โดยจะมีการเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนพัฒนากฎหมาย 1 สำนักกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 4471 e-Mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือสายด่วน 1570 และเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th