กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ 3 เมษายน 2568 ภายใต้แนวคิด“สืบสานพระราชปณิธาน บูรณาการน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน”
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ (National Groundwater Day) ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน บูรณาการน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน” พร้อมจัดสัมมนาเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาล และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 2 - 3 เมษายน 2568 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้สืบเนื่องจากวันที่ 3 เมษายน 2565 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
เพื่อกำหนดเป็นวันน้ำบาดาลแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 ให้วันที่ 3 เมษายนของทุกปี เป็น “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” (National Groundwater Day) ซึ่งเป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึก และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล และร่วมกัน สืบสานพระราชปณิธานในการร่วมกันดูแล รักษา ปกป้องทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กล่าวถึงการจัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ประจำปี 2568 นี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน บูรณาการน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน” มีจุดม่งหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ของน้ำบาดาล และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ให้น้ำบาดาลอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป และเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อความมั่นคงระดับชุมชน” และ
“โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม” ซึ่งเป็นโครงการจัดการแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และช่วยเหลือประชาชนในแต่ละภูมิภาคของประเทศให้มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี ผ่านระบบประปาชุมชน และจัดการระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มสะอาด โดยมีเป้าหมายทั้งสิ้น 72 แห่ง ทั่วประเทศ ครอบคลุม 59 จังหวัด ประกอบด้วยโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ซึ่งมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 62 แห่ง, โครงการ
จัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็มรูปแบบที่ 1 โดยมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติจำนวน 8 แห่ง และโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็มรูปแบบที่ 2 โดยมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 2 แห่ง ภายในงานยังได้จัดกิจกรรมการบรรยาย หรือการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การบรรยายพิเศษ “นโยบายการกำกับและควบคุมกิจการน้ำบาดาล”, การเสวนาในหัวข้อ “การถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างยั่งยืนในพื้นที่", การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศไทย", การเสวนาในหัวข้อ “การปนเปื้อนน้ำบาดาล มรดกสารพิษ ภัยเงียบ
แห่งอนาคต” และการเสวนาในหัวข้อ “การพัฒนาต้นแบบเครือข่ายรักษ์น้ำบาดาล เพื่อการอนุรักษ์น้ำบาดาลอย่างยั่งยืน” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเครือข่ายน้ำบาดาล อนึ่ง ได้มีพิธีมอบรางวัลเครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น ประจำปี 2568 จำนวน 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 58 รางวัล โดยประเภทแรก ประเภทสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด รวม 26 รางวัล ซึ่งมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ ด้านการกำกับ ควบคุมการประกอบกิจการน้ำบาดาลระดับดีเด่น จำนวน 5 รางวัล, ด้านการตรวจสอบ ติดตามการขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลระดับดีเด่น จำนวน 5 รางวัล, ด้านการบริหารจัดการฐานข้อมูลด้านการประกอบกิจการน้ำบาดาลระดับดีเด่น จำนวน 5 รางวัล, ด้านการออกใบแจ้งหนี้ และติดตามการรับชำระเงินระดับดีเด่น จำนวน 5 รางวัล, และ ด้าน
การนำส่งรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลระดับดีเด่น แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือพื้นที่เขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล จำนวน 3 รางวัล และในพื้นที่นอกเขตวิกฤตการณ์ น้ำบาดาล จำนวน 3 รางวัล ประเภทที่สอง รางวัลเครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น ประเภทกลุ่มผู้ประกอบกิจการ น้ำบาดาลภาคเอกชน หมวดนี้มีทั้งหมด 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ประเภทธุรกิจ จำนวน 3 รางวัล, กลุ่มที่สอง ประเภทอุปโภคหรือบริโภค จำนวน 3 รางวัล และกลุ่มที่สาม คือ ประเภทการใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 2 รางวัล ประเภทที่สาม ประเภทพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำบาดาลดีเด่น จำนวน 12 รางวัล และประเภทสุดท้าย ประเภทช่างเจาะน้ำบาดาลดีเด่นกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 12 รางวัล นอกจากนี้ภายในงานยังจัดนิทรรศการของภาคีเครือข่ายเพื่อนำเสนอผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากน้ำบาดาล